สาระควรรู้ทั่วไป

"บ้านมือสอง" เป็นอีกทางเลือกหนึ่งสำหรับคนที่ฝันอยากจะมี "บ้าน" เป็นของตัวเอง โดยเฉพาะคนที่มีกำลังซื้อจำกัด แต่ต้องการอยู่ในทำเลที่ดีเพราะ "บ้านมือสอง" กระจายอยู่ตามพื้นที่ต่างๆบางพื้นที่ลูกค้าไม่มีโอกาสที่จะเห็นบ้าน ขณะที่ราคาบ้านมือสองถูกกว่าบ้านใหม่ เพราะผู้ขายส่วนใหญ่จะถูกกดดันเป็นพิเศษและรุนแรง เช่น กำลังจะถูกฟ้องบังคับจำนองหรือต้องการย้ายที่อยู่ใหม่

ประกาศอสังหาริมทรัพย์ใหม่ บ้าน บ้าน รายการล่าสุด บ้านเดี่ยว บ้านเดี่ยว รายการล่าสุด ทาวน์เฮ้าส์ ทาวน์เฮ้าส์ รายการล่าสุด ทาวน์โฮม ทาวน์โฮม รายการล่าสุด คอนโด คอนโด รายการล่าสุด อาคารพาณิชย์ อาคารพาณิชย์ รายการล่าสุด อพาร์ทเม้นท์ อพาร์ทเม้นท์ รายการล่าสุด สำนักงาน สำนักงาน รายการล่าสุด โฮมออฟฟิศ โฮมออฟฟิศ รายการล่าสุด ธุรกิจ ธุรกิจ รายการล่าสุด โรงงาน โรงงาน รายการล่าสุด คลังสินค้า คลังสินค้า รายการล่าสุด โกดัง โกดัง รายการล่าสุด ที่ดิน ที่ดิน รายการล่าสุด ลงประกาศฟรี ผู้รับเหมา รายการล่าสุด ผู้รับเหมา ลงประกาศฟรี ผู้รับเหมา ข่าวประชาสัมพันธ์ รายการล่าสุด ข่าวประชาสัมพันธ์ พรีวิวโครงการใหม่ รายการล่าสุด พรีวิวโครงการใหม่ ตกแต่งที่อยู่อาศัย รายการล่าสุด ตกแต่งที่อยู่อาศัย สาระควรรู้ ที่อยู่อาศัย รายการล่าสุด สาระควรรู้ ที่อยู่อาศัย ฮวงจุ้ย ที่อยู่อาศัย รายการล่าสุด ฮวงจุ้ย ที่อยู่อาศัย สินเชื่อ ที่อยู่อาศัย รายการล่าสุด สินเชื่อ ที่อยู่อาศัย SME รายการล่าสุด SME สถานที่ท่องเที่ยว รายการล่าสุด สถานที่ท่องเที่ยว

การซื้อบ้านมือสอง สำหรับคนที่มีกำลังซื้อจำกัด แต่ต้องการอยู่ในทำเลที่ดี

          ก่อนจะตัดสินใจเลือกจะต้องตรวจสอบอย่างละเอียดและพิถีพิถันสักหน่อย ถ้าเลือกอย่างดี จะได้บ้านคุณภาพดีราคาสมเหตุสมผล ช่องทางมองหาบ้านมือสองที่ได้รับความนิยมในปัจจุบันมีอยู่ 4 แหล่งใหญ่ๆ ที่จะมีข้อดี ข้อเสีย และข้อควรระวังแตกต่างกันไปคือ

1. การซื้อกับเจ้าของโดยตรง
       การซื้อกับเจ้าของโดยตรง ดูจะเป็นวิธีดั้งเดิมและง่ายที่สุดในการเจรจาซื้อขาย โดยเฉพาะการต่อรองราคา ทั้งยังมั่นใจไดว่า ผู้ซื้อจะได้เข้าพักอาศัยโดยไม่ต้อง "อาศัยอำนาจศาล" เพื่อขับไล่เจ้าของเดิม แต่อย่างน้อยผู้ซื้อควรตรวจสอบให้แน่ใจก่อนว่า ความเต็มใจขายของเจ้าของเดิมจะไม่ได้มาจากปัญหาที่เกิดจากตัวบ้านจนต้องยอมขาย

       นิติกรรมสัญญา เป็นสิ่งที่ต้องระมัดระวังมากที่สุด เพราะทั้งสองฝ่ายจะต้องดำเนินการเรื่องสัญญาเองทั้งหมด ซึ่งในบางกรณีหากไม่มีการตรวจสอบอย่างรอบคอบ ก็อาจจะกลายเป็นปัญหาใหญ่ได้ในอนาคต โดยอาจขอความช่วยเหลือจากผู้เชี่ยวชาญจะสะดวกและสบายใจมากขึ้นทั้งยังต้องตกลงค่าใช้จ่ายที่จะเกิดขึ้นในแต่ละขั้นตอนอย่างชัดเจนว่า ใครจะเป็นคนจ่ายในส่วนไหน อย่างไรบ้าง และหากผู้ขายต้องการให้ผู้ซื้อออกค่าใช้จ่ายส่วนใหญ่ ผู้ซื้ออาจขอลดราคาบ้านลงได้อีก

 

2. การซื้อผ่านนายหน้า
       การซื้อผ่านนายหน้า นอกจากมีบ้านให้เลือกจำนวนมาก แบ่งแยกตามพื้นที่ ราคา ไว้ได้ตรงใจผู้ซื้อ ทำให้ไม่ต้องเสียเวลามากนัก และเชื่อได้ระดับหนึ่งว่า บ้านมือสองที่อยู่ในมือของบริษัทเหล่านี้จะได้รับการคัดสรรและกรองมาระดับหนึ่งแล้ว และ "ตัวแทน" จะเป็นคนดำเนินเรื่องเกือบทุกอย่างให้ ตั้งแต่พาไปดูบ้านที่เลือกไว้ เจรจาราคา จัดการสัญญา เงินกู้ธนาคาร แต่ต้องมีค่านายหน้า ประมาณ 3% ของ ราคาขาย ซึ่งปกติผู้ขายจะเป็นคนจ่าย แต่ในขั้นตอนการทำสัญญาต้องตรวจสอบให้แน่ใจว่า เรากำลังทำสัญญาและวางเงินมัดจำกับ "เจ้าของบ้านตัวจริง" หรือไม่ เพราะฉะนั้นอย่าลืมขอดูบัตรประชาชนและชื่อหลังโฉนดก่อนจะตกลงปลงใจ

3. สินทรัพย์รอการขายของสถาบันการเงิน
       สินทรัพย์รอการขายของสถาบันการเงิน เป็นอีกแหล่งหนึ่งที่ได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะนอกจากจะมีบ้านให้เลือกจำนวนมากและราคาต่ำกว่าราคาตลาดแล้ว การขอสินเชื่อยังจะสะดวกและดอกเบี้ยอาจต่ำกว่าการซื้อบ้านจากแหล่งอื่นๆ เนื่องจากธนาคารเจ้าของทรัพย์สินจะให้สินเชื่อเอง และบางแห่งจะยกเว้นค่าธรรมเนียมหรืออำนวยความสะดวกอื่นๆ แต่ต้องยอมรับว่า บ้านมือสอง ที่อยู่ในมือสถาบันการเงินบางหลังอาจจะชำรุดทรุดโทรมกว่าบ้านในมือของบริษัทนายหน้าหรือบ้านที่เจ้าของขายเอง เพราะฉะนั้นเพื่อให้แน่ใจว่า นอกจากจะได้ดอกเบี้ยพิเศษแล้วจะไม่มีลูกบ้านคนพิเศษมาอยู่ในชายคาเดียวกัน ก็ต้องตรวจสอบให้มั่นใจว่าไม่มีใครยังอยู่ในบ้านหลังนั้น หรือถ้ายังมีคนอยู่ควรให้ธนาคารจัดการให้เรียบร้อยก่อนที่จะตกมาถึงมือเรา และถ้าให้มั่นใจที่สุดจะต้องให้ธนาคารมีชื่อเป็นเจ้าของโฉนดให้เรียบร้อยเสียก่อน จะได้ไม่ต้องเสียเวลา "ฟ้องขับไล่" ในภายหลัง


4. ประมูลจากกรมบังคับคดี

       ประมูลจากกรมบังคับคดี มีขั้นตอนและกระบวนการมาก แต่จะมีราคาเป็นตัวจูงใจ เพราะราคาเริ่มต้นจากการประมูลนี้อาจต่ำกว่าราคาตลาดได้ถึง 50% แต่ก่อนที่จะเข้าร่วมประมูลจะต้องไปดูบ้านและประเมินราคาที่พร้อมจะสู้ไว้ล่วงหน้า จะได้ไม่ถูก "ใคร" กระตุ้นให้สู้ราคาจนเกินกำลังเงินและเกินมูลค่าบ้าน และที่ต้องระวังที่สุด คือ การฟ้องขับไล่ แม้ว่าจะอาศัยอำนาจศาลให้ผู้บุกรุกออกจากบ้านได้ทันที แต่ก็ไม่รู้ว่า จะใช้เวลานานแค่ไหนที่ "ผู้บุกรุก" จะยอมออกจากบ้านไปและอีกเรื่องที่มองข้ามไม่ได้ คือ "การฟ้องคัดค้านราคา" ซึ่งตามกระบวนการทางกฎหมายจะให้สิทธิลูกหนี้คัดค้านราคาได้ครั้งหนึ่ง

       ในกรณีที่เป็นการประมูลของเอกชน ก่อนเข้าร่วมประมูลยังต้องตรวจสอบให้แน่ใจว่า ผู้ประมูลเป็น "เจ้าของทรัพย์" หรือมีสิทธิ์ขายทรัพย์ ฉะนั้น เพื่อให้ได้ของดี ราคาถูก ก็คงต้องยอมเหนื่อยกว่าปกติ

        แต่ไม่ว่าจะพบบ้านในดวงใจจากแหล่งใดก็ตาม ก่อนที่จะตัดสินใจเป็นเจ้าของบ้านสักหลัง จะต้องถามตัวเองและครอบครัวก่อนว่า ต้องการจะอยู่ "บริเวณ" ไหน ซึ่งเราสามารถหาบ้านในใจกลางเมืองหรือในบริเวณที่ต้องการได้ในราคาที่ไม่สูงเกินไป เมื่อเลือกบริเวณที่ต้องการได้แล้ว สิ่งต่อไปคือ "ทำเลที่ตั้งและสภาพแวดล้อม" ที่ต้องระวังคือ "แนวเวนคืน" เพราะเจ้าของเดิมอาจยอมขายราคาถูก เพราะไปรู้มาว่า บริเวณนั้นจะถูกเวนคืน เพื่อการป้องกันต้องตรวจสอบไปที่ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กรมโยธาธิการ การทางพิเศษแห่งประเทศไทย สำนักงานเขตหรือกรมที่ดิน และเพื่อนบ้าน

        สิ่งสำคัญที่สุดสำหรับขั้นตอนการเลือกบ้านมือสอง คือ "สภาพบ้าน" เพราะมีการอยู่อาศัยมาแล้ว ทำให้สภาพบ้านอาจเสื่อมโทรมไปบ้าง โดยเฉพาะบ้านที่ผ่านกระบวนการบังคับคดีที่ใช้เวลานาน แต่ที่สำคัญกว่านั้นคือ "โครงสร้าง" จะยังแข็งแรงอยู่หรือไม่เพราะหากมีการต่อเติมที่ไม่ถูกต้องตามหลักวิชาการอาจสร้างปัญหาได้ในอนาคต

       ดังนั้น หากคุณไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญก็ควรจะหาผู้ที่มีความรู้ด้านนี้ไปช่วยเลือกบ้านด้วย เพื่อตรวจสอบความมั่นคงแข็งแรงและใช้ในการประเมินราคาบ้าน และที่สำคัญคือ สาธารณูปโภคพื้นฐานภายในบ้าน ว่าอยู่ในสภาพพร้อมใช้งานหรือไม่ ต้องซ่อมแซมมากน้อยเพียงใด เพราะนอกจากจะต้องเตรียมเงินสดหรือขอสินเชื่อเพื่อซ่อมแซมแล้ว ยังเป็นสิ่งที่สำคัญมากในขั้นตอน "การต่อรองราคา"

       ดังนั้น "ราคาสมเหตุสมผล" น่าจะเป็นทางออกที่ดีที่สุดทั้งผู้ซื้อและผู้ขาย

เมื่อได้บ้านมือสองที่ "สภาพถูกตา ราคาถูกใจ" แล้ว ขั้นตอนต่อไปคือ การทำสัญญาจะซื้อจะขาย ซึ่งต้องอาศัยผู้ที่เชี่ยวชาญด้านกฎหมายมาเป็นที่ปรึกษา แต่หากใช้สัญญามาตรฐานของกรมที่ดิน หรือขอความช่วยเหลือจากสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค หรือ สคบ. ก็น่าจะช่วยแบ่งเบาภาระนี้ได้ส่วนหนึ่ง

       แต่ก่อนที่จะลงมือทำสัญญาจะต้องสำรวจกำลังเงินที่จะใช้ "วางมัดจำ" ให้พร้อมเสียก่อน เพราะการซื้อบ้านมือสองจะต้องมีเงินสดจำนวนหนึ่งมาวางมัดจำ หรือจ่ายส่วนจ่างที่ธนาคารไม่ให้สินเชื่อเต็ม 100% ของราคาบ้าน ขณะที่บ้านใหม่ยังสามารถ "ผ่อนดาวน์" ได้ เพราะฉะนั้น จำนวนเงินที่ต้องเตรียมจะขึ้นอยู่กับความสามารถในการกู้และวงเงินที่ธนาคารให้กู้ส่วนหนึ่งด้วย ขณะที่การประมูลจากกรมบังคับคดีจะต้องเตรียมเงินสด จำนวน 50,000 บาท (ใน กทม.) และ 40,000 บาท (ในต่างจังหวัด) เพื่อใช้เป็นเงินมัดจำในการประมูลและเมื่อประมูลได้แล้วต้องวางเงินมัดจำ 25% ของราคาทรัพย์ รวมเงินวางประกันในวันนั้น ที่เหลืออีก 75% ชำระภายใน 15 วัน นับแต่วันทำสัญญาซื้อขาย 

       ส่วนการซื้อผ่านนายหน้าต้องเตรียมเงินวางมัดจำประมาณ 10% ของราคาบ้านในวันทำสัญญา แต่สามารถเจรจาต่อรองได้

       ปัญหาต่อไปคือ "เงินกู้" เพราะน้อยคนนักที่จะมีเงินออมมากพอที่จะซื้อบ้านมือสองด้วยเงินสด แต่จะเบาแรงได้หน่อยสำหรับคนที่ซื้อบ้านจากพอร์ตสินทรัพย์รอการขายจากสถาบันการเงิน เพราะบางแห่งจะให้ดอกเบี้ยต่ำกว่าอัตราดอกเบี้ยปกติ โดยเฉพาะในปีแรกๆทั้งยังยกเว้นค่าธรรมเนียม ค่าประเมิน หรืออื่นๆเพื่อจูงใจลูกค้า

       ปัจจัยที่ธนาคารนำมาพิจารณาในการขอสินเชื่อจะไม่ต่างจากสินเชื่อบ้านใหม่นัก ไม่ว่าจะเป็น รายได้ ความสามารถในการผ่อน อัตราดอกเบี้ย ระยะเวลาผ่อน ประเภทของหลักทรัพย์ค้ำประกัน คือ บ้านหรือทาวน์-เฮ้าส์ที่ซื้อ และเงินดาวน์หรือเงินวางมัดจำ

       จากการทดลองใช้เครื่องคำนวณสินเชื่อที่สถาบันการเงินเปิดให้บริการในเว็บไซด์จะได้ตัวเลขที่แตกต่างกัน เช่น มีรายได้ประจำ 20,000 บาท ที่อัตราดอกเบี้ย 6.75%

       เครื่องคำนวณของธนาคารกรุงเทพจะให้กู้เงินได้ประมาณ 1 ล้านบาท และผ่อนชำระเดือนละ 80,000 บาท หรือประมาณ 40% ของรายได้ เป็นเวลา 20 ปี โดยจะซื้อบ้านในราคา 1.5 ล้านบาท แต่จะต้องมีเงินดาวน์ประมาณ 30% ของราคาบ้าน เพื่อแสดงให้เห็นว่าลูกค้ามีความสามารถในการออม

       ขณะที่เครื่องคำนวณของธนาคารอาคารสงเคราะห์ ให้ซื้อบ้านในราคา 625,000 บาท และกู้เงินได้ 500,000 บาท ผ่อน 30 ปี เดือนละ 5,200 บาท หากวงเงินที่ได้ไม่พอซื้อ ธนาคารจะแนะนำให้หาคนกู้ร่วมหรือลดขนาดบ้านลง 

       ส่วนผู้ที่ประมูลซื้อจากกรมบังคับคดีจะสามารถขอสินเชื่อได้จากสถาบันการเงินที่ร่วมมือกับกรมบังคับคดี ได้แก่ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ ธนชาติ ทิสโก้ ไทยพาณิชย์ กสิกรไทย ทหารไทย กรุงไทย กรุงศรีอยุธยา กรุงเทพ เกียรตินาคิณ เอไอไอ และยูโอบีรัตนสิน ที่จะทำให้สะดวกและรวดเร็วมากขึ้น และจะง่ายขั้นถ้าขอกู้กับธนาคารที่บังคับคดี

         แต่ไม่ว่าจะกู้จากสถาบันการเงินใดก็ตาม อย่าลืมประเมินศักยภาพในการผ่อนชำระของตัวเองเสียก่อน เพราะต้องผ่อนไปอย่างน้อย 20-30 ปี ไม่เช่นนั้น "บ้านมือสอง" ที่เราซื้อกันได้ จะต้องกลายไปเป็น "บ้านมือสาม" ของคนอื่นไป

       และแล้วก็มาถึงขั้นตอนสุดท้าย นั่นคือ การโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินหรือที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างที่ต้องเตรียมเอกสาร คำขอจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรม (ท.ด.1) 1 ฉบับ หนังสือสัญญาขายที่ดินหรือที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้าง (ท.ด.13) 3 ฉบับ บันทึกการประเมินราคาประเมินราคาทรัพย์สิน (ท.ด.86) 1 ฉบับ บันทึกถ้อยคำการชำระภาษีอากร (ท.ด.16) 2 ฉบับ และในกรณีที่ต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะ ต้องยื่นแบบแสดงรายการภาษีธุรกิจเฉพาะ (ภ.ธ.40) 2 ฉบับ

       และต้องเตรียมเงินสดไปด้วย เพราะในแต่ละขั้นตอนจะมีค่าใช้จ่ายทั้งผู้ซื้อและผู้ขายแล้วแต่การตกลงของทั้งคู่ คือ ค่าธรรมเนียมการโอนในกรณีที่ดินหรือที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างอื่นจะจ่าย 2% ของราคาประเมิน นอกจากนี้ยังมีค่าจำนองอีก 0.01% ค่าอากรแสตมป์ 0.5% ของราคาประเมินหรือราคาซื้อขายที่สูงกว่า สำหรับการขายที่ดินหรือที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างของบุคคลธรรมดาที่ถือครองเกินกว่า 5 ปี หรือขายห้องชุดที่ถือครองเกินกว่า 5 ปี หรือที่ชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านของห้องชุดตั้งแต่ 1 ปีขึ้นไป หรือค่าภาษีธุรกิจเฉพาะ อัตรา 0.11% ของราคาประเมินหรือราคาซื้อขายที่สูงกว่า สำหรับกรณีการซื้อบ้านจากนิติบุคคล

       ค่าภาษีหัก ณ ที่จ่าย สำหรับบุคคลธรรมดาจะคิดในอัตราก้าวหน้าจากราคาประเมินของกรมที่ดิน และกรณีนิติบุคคลจะต้องชำระ 1% ของราคาประเมินหรือราคาซื้อขายในราคาที่สูงกว่า แม้ว่า การเป็นเจ้าของ "บ้านมือสอง" สักหลังจะดูยุ่งยาก วุ่นวายและต้องใช้ความรอบคอบเป็นพิเศษ แต่ทันทีที่เรามีบ้านเป็นของตัวเองด้วยน้ำพักน้ำแรงของเราเอง และเป็นบ้านที่จะไม่สร้างปัญหาให้เราในภายหน้า ถึงมันจะไม่ใช่บ้านใหม่เหมือนในฝัน แต่เท่านี้ก็ทำให้หายเหนื่อยนอนหลับอย่างสบายใจใน "บ้าน" ของเรา


ขอบคุณข้อมูลจาก หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์
  • 12 เมนูอาหารเจสุดแซ่บ สามารถทำกินเองง่ายๆที่บ้าน "อิ่มท้อง อิ่มบุญ แซ๊บแซ่ม"
  • โปรดระวัง เล่นเกมส์ "โปเกมอน โก" เข้าบ้านคนอื่นระวังข้อหา "บุกรุก"
  • 7 วิธีเร่งด่วนเพื่อเตรียมบ้านรับมือกับพายุ
  • 10 เมนูโคตรง่าย!! แกล้มก็ได้ ดูบอลก็ดี
  • 15 วิธีป้องกันนกบินชนกระจก เซฟชีวิตเพื่อนสัตว์ตัวจิ๋ว พร้อมช่วยดูแลบ้านไปในตัว
  • ไอเดียแปลงของเหลือใช้ในบ้าน เป็นกระถางต้นไม้สวยดูดีมีสไตล์ ใช้จัดสวนบนพื้นที่จำกัด
  • ส่องโครงการคอนโดมิเนียม ใกล้สถานีรถไฟฟ้าส่วนต่อขยายสายสีเขียว สถานีห้าแยกลาดพร้าว - สถานีคูคต
  • "สุรา สุรา เป็นยาวิเศษ" รวม 8 ประโยชน์ของสุรา มีดีมากกว่าไว้ใช้เมา
  • "บ้านเก่า" จะรื้อสร้างใหม่ VS รีโนเวทบ้าน ?
  • เลือกอิฐแบบไหน อิฐมอญ อิฐมวลเบา อิฐบล็อก เหมาะกับสร้างบ้าน ประหยัดงบมากที่สุด
  • เช็คสิทธิ ทะเบียนราษฎร "เจ้าของบ้าน" กับ "เจ้าบ้าน" ในทะเบียนบ้าน ใครสิทธิเหนือกว่า หน้าที่ต่างกันอย...
  • เคล็ดไม่ลับ 10 วิธีซักผ้าสีตก คราบสีฝังแน่นอย่าทิ้ง ทำให้เสื้อกลับมาใส่ได้อีกครั้งดีกว่า
  • ข้อควรรู้ ซื้อบ้าน และที่ดินในโครงการจัดสรร เรื่องใดที่ควรทำหลังโอนกรรมสิทธิ์ที่ดิน
  • แอร์ยี่ห้อไหนประหยัดไฟ 2567 ลดการใช้พลังงาน ช่วยประหยัดไฟได้ดี
  • วิธีเลือกเครื่องกรองน้ำ ใช้เครื่องกรองระบบไหนดี ตรวจสอบไส้กรองหลังการใช้งานอย่างไร
  • การซื้อบ้านมือสอง สำหรับคนที่มีกำลังซื้อจำกัด แต่ต้องการอยู่ในทำเลที่ดี

    "บ้านมือสอง" เป็นอีกทางเลือกหนึ่งสำหรับคนที่ฝันอยากจะมี "บ้าน" เป็นของตัวเอง โดยเฉพาะคนที่มีกำลังซื้อจำกัด แต่ต้องการอยู่ในทำเลที่ดีเพราะ "บ้านมือสอง" กระจายอยู่ตามพื้นที่ต่างๆบางพื้นที่ลูกค้าไม่มีโอกาสที่จะเห็นบ้าน ขณะที่ราคาบ้านมือสองถูกกว่าบ้านใหม่ เพราะผู้ขายส่วนใหญ่จะถูกกดดันเป็นพิเศษและรุนแรง เช่น กำลังจะถูกฟ้องบังคับจำนองหรือต้องการย้ายที่อยู่ใหม่

    © สงวนลิขสิทธิ์ 2567 บริษัท ไทยโฮมทาวน์ จำกัด
    @thaihometown Scroll