
จะทำอย่างไรได้บ้าง หากต้องการให้บ้านมีความปลอดภัยสูงจากโจรขโมยหรือไม่อยากให้บ้านโดนงัด แต่ไม่ต้องการติดเหล็กดัด เป็นคำถามที่เกิดขึ้นบ่อยครั้งโดยเฉพาะเจ้าของบ้านที่กำลังวางแผนออกแบบสร้างบ้านใหม่ ซึ่งวันนี้จะแนะนำ วิธีกันขโมยขึ้นบ้าน เพื่อใช้เป็นตัวเลือกให้บ้านของคุณปลอดภัย 
6 ตัวช่วยเพิ่มความปลอดภัยเมื่อไม่มีเหล็กดัด

ข้อดีของ “เหล็กดัด” ที่เห็นได้ชัดคือ เมื่อติดตั้งแล้วสามารถปกป้องผู้อยู่อาศัยได้ตลอดเวลา ช่วยถ่วงเวลาไม่ให้ขโมยเข้ามาในบ้านได้ง่ายเกินไป เจ้าของบ้านจึงรู้สึกอุ่นใจในการอยู่อาศัยมากขึ้น แต่หลังจากติดตั้งเหล็กดัดแล้ว สิ่งที่พบได้ทันที คือ มุมมองหน้าต่างแลดูอึดอัด
ดีไซน์ภายนอกตัวบ้านถูกลดทอนความสวยงาม นานวันเข้าเหล็กดัดกลายเป็นจุดสะสมฝุ่นที่ทำความสะอาดได้ยาก และหลายครั้งพบว่าโจรสามารถงัดเหล็กดัดเข้าไปในบ้านอย่างรวดเร็วโดยไม่ได้ยินเสียง

1. โรยหินกรวดในมุมอับ เหยียบแล้วดังก๊อบแก๊บ 
วิธีที่สร้างระบบเตือนภัยแบบง่ายที่สุดเพื่อป้องกันโจรขึ้นบ้าน คือการสร้างเสียงเตือนผู้ที่อยู่ในบ้าน ซึ่งอาจทำได้โดยไม่ต้องเปลืองงบประมาณ อย่างเช่น การโรยกรวดในมุมอับหรือจุดเสี่ยงที่เข้ามาในตัวบ้านได้ง่าย เช่น ห้องครัว ห้องน้ำที่ติดตั้งบานเกล็ด หากมีผู้บุกรุกจะมีเสียงก๊อบแก๊บเมื่อเหยียบ ช่วยปลุกให้เจ้าของบ้านรู้ตัวเตรียมรับมือก่อนภัยมาถึงตัว

2. มุ้งลวดนิรภัย กันได้ทั้งยุงและ กันขโมยขึ้นบ้านได้ 
มุ้งลวดนิรภัย ต่างจากมุ้งลวดธรรมดาตรงที่ผลิตจากเส้นลวดสแตนเลสขนาดใหญ่ (เกรด304) หรือวัสดุ Galvanized นำมาสานกันด้วยเครื่องจักรที่ควบคุมด้วยระบบคอมพิวเตอร์ ทำให้ มีความแข็งแรงทนทานต่อกัดกร่อนและการตัด เฉือน กระแทก จึงป้องกันการโจรกรรมได้ไม่ต่างจากเหล็กดัด
หากมองผ่านๆ จะเห็นว่าเป็นบานมุ้งลวดกันยุงธรรมดา แต่ในแง่ฟังก์ชันจริงสามารถกันขโมยได้ โดยที่ภาพรวมของบ้านยังคงความสวยงาม มองเห็นทัศนียภาพภายนอกแบบ Full Screen ไม่ถูกบดบัง แต่ขอแอบกระซิบไว้ว่า ราคามุ้งลวดนิรภัยสูงมากเลยครับ การติดตั้งจึงอาจเลือกเฉพาะจุดที่จำเป็นเท่านั้น

3. ติดตั้งกล้องวงจรปิด CCTV จับทุกความเคลื่อนไหว 
กล้องวงจรปิด เป็นระบบการถ่ายและบันทึกภาพเคลื่อนไหวในรัศมีของทำงานของกล้อง เพื่อให้เจ้าของบ้านสอดส่องสถานการณ์ในบ้าน-นอกบ้านได้ตลอดเวลา กล้องจะไม่รบกวนการอยู่อาศัย ไม่ลดความสวยงามของบ้าน สามารถย้อนกลับมาดูเหตุการณ์หรือใบหน้าของผู้บุกรุกได้
หลายรุ่นพัฒนาแอปพลิเคชันให้เชื่อมต่อกับ Smart Phone ได้แบบ Real Time เป็นระบบรักษาความปลอดภัยที่ไม่มีเสียง จึงควรติดตั้งพร้อมฟังก์ชันอื่นๆ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการกันขโมย

4. ติดตั้งสัญญาณกันขโมย 
เป็นระบบการตรวจจับผู้บุกรุกและมีระบบส่งสัญญาณแจ้งเตือนภัย ประกอบด้วย อุปกรณ์ตรวจจับผู้บุกรุก อุปกรณ์ที่ส่งสัญญาณเตือนภัยและตู้ควบคุมการทำงาน โดยทั่วไปจะนิยมติดไว้บริเวณประตู หน้าต่าง เมื่อมีการงัดแงะหรือเปิดโดยผิดปกติ ระบบจะส่งสัญญาณไปยังต่อเข้ากับอุปกรณ์ส่งสัญญาณเตือนภัย เช่น ไซเรน หรือระบบโทรศัพท์ต่อไปยังหมายเลขที่กำหนดไว้
กรณีที่ต่อเชื่อมกับไซเรนจะทำให้มีเสียงดังขึ้น คนร้ายอาจตกใจและเปลี่ยนเป้าหมาย เจ้าของบ้านสามารถเตรียมป้องกันตัวเองและขอความช่วยเหลือได้ทันที สัญญาณกันขโมยรุ่นใหม่ๆ ยังมีฟังก์ชันเสริมโทรแจ้งตำรวจอัตโนมัติได้ด้วยครับ

5. เซนเซอร์จับความเคลื่อนไหว กันขโมยขึ้นบ้าน 
การใช้เซนเซอร์ เป็นระบบตรวจจับการเคลื่อนไหวด้วยคลื่นรังสี Infrared ที่กระจายจากวัตถุหรือมนุษย์ เมื่อมีคนที่มีความอบอุ่นในร่างกายเคลื่อนที่ผ่านเข้ามาในพื้นที่โซนการทำงาน ระบบจะจับค่าความร้อนที่เปลี่ยนแปลง แล้วส่งค่าสัญญาณทำให้มีไฟสว่างขึ้น ระบบนี้มักจะทำงานร่วมกันระหว่างตัวตรวจจับความเคลื่อนไหว เซนเซอร์ และไซเรนที่ให้เสียงดัง
ในส่วนของการติดตั้งนอกจากประตูทางเข้าหลักแล้ว อาจติดตรงบริเวณประตู หน้าต่างหรือมุมห้องที่คาดว่าจะเป็นช่องทางเข้าสู่ตัวบ้าน เซนเซอร์บางรุ่นเป็นแบบไร้สายเพียงยึดด้านหลังด้วยเทปกาวสองหน้าก็พร้อมใช้งาน และมีช่องให้ต่อ LDR เพื่อให้ทำงานตรวจจับเฉพาะเวลากลางคืน ทั้งยังสามารถควบคุมจากระยะไกลได้ด้วย

6. โจรต้องตกใจ เมื่อเจอไฟเซนเซอร์เปิดอัตโนมัติ 
ไฟเซ็นเซอร์ (Motion Sensor) ที่ใช้สำหรับป้องกันขโมย จะนิยมใช้ร่วมกับไฟสปอร์ตไลท์ ซึ่งจะให้แสงสว่างเจิดจ้าเป็นพิเศษ หลักการทำงานไม่ซับซ้อนครับ เมื่อมีสิ่งเคลื่อนไหวใดๆ ผ่าน ไฟจะสว่างจ้าโดยอัตโนมัติ
ซึ่งจะทำให้ผู้บุกรุกเกิดอาการตกใจ กลัวว่าจะมีคนเห็น เมื่อนำมาใช้งานร่วมกับกล้องวงจรปิด จะช่วยให้เห็นผู้บุกรุกได้ชัดเจนยิ่งขึ้น จึงนิยมนำมาติดตั้งในมุมอับต่างๆ ที่สุ่มเสี่ยงต่อขโมยขึ้นบ้าน
หากใครยังไม่อยากติดเหล็กดัด ก็ลองนำวิธีเหล่านี้ไปลองปรับใช้กับที่บ้านของคุณกันได้เลยนะครับ ทั้งนี้ก็เพื่อให้บ้านหรือที่อยู่อาศัยของคุณ มีความปลอดภัยมากยิ่งขึ้น ช่วงถ่วงเวลาไม่ให้ขโมยนั้นเข้าบ้านได้ง่ายจนเกินไปครับ 