
วิธีรับมือ เมื่อนิติบุคคลสร้างปัญหา ลูกบ้านควรต้องปฏิบัติตัวอย่างไร
หมู่บ้านจัดสรร หรือคอนโดอาคารชุด จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องมีผู้ที่คอยรับผิดชอบปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น และอำนวยความสะดวกให้กับลูกบ้าน คือ นิติบุคคล ผู้อาศัยจึงควรศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับนิติบุคคลให้เข้าใจ เพราะนอกจากจะมีหน้าที่ดูแลความเรียบร้อยของที่พักอาศัยแล้ว ยังดูแลและบริหารทรัพย์สินส่วนกลางที่เรียกเก็บจากผู้อาศัยทุกคนอีกด้วย ทำให้เราควรที่จะรู้ข้อกำหนดต่าง ๆ เพื่อรักษาผลประโยชน์ของตัวเองในกรณีที่พบเจอปัญหานิติบุคคลเอง
นิติบุคคล คือใคร ?
นิติบุคคลมีหน้าที่หลักในการบริหารจัดการและดูแลทรัพย์สินส่วนกลางของที่อยู่อาศัย รวมทั้งการอำนวยความสะดวกในหลาย ๆ ด้านให้กับลูกบ้านทุกคน
สำหรับนิติบุคคลอาคารชุดหรือนิติบุคคลคอนโด ในช่วงแรก เจ้าของโครงการจะเป็นคนจัดหาบริษัท เพื่อทำหน้าที่ในการบริหารนิติบุคคลอาคารชุด และสรรหาคณะกรรมการนิติบุคคลอาคารชุดต่อไป ซึ่งมาจากตัวแทนของลูกบ้าน
ในขณะที่นิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรร จะจัดตั้งขึ้นได้จากมติของผู้อยู่อาศัยในโครงการที่มีไม่น้อยกว่าครึ่ง โดยจะเป็นการแต่งตั้งตัวแทนยื่นคำขอจดทะเบียนต่อเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัด เพื่อให้บริษัทนิติบุคคลรับโอนทรัพย์สินส่วนกลาง ทรัพย์สินสาธารณูปโภคจาก “ผู้จัดสรร” หรือเจ้าของโครงการมาบริหารจัดการได้ แต่ก็ต้องอยู่ภายในการบริหารงานของคณะกรรมการนิติบุคคลเช่นเดียวกันกับนิติบุคคลอาคารชุด
ด้วยความที่นิติบุคคลเป็นองค์กรที่จะบริหารจัดการให้ลูกบ้านได้อยู่อาศัยอย่างมีความสุข หน้าที่หลักจึงเกี่ยวข้องโดยตรงในด้านการรักษาความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน การดูแลรักษาความสะอาดอย่างการเก็บกวาดขยะตามตารางเวลา ตรวจสอบไฟฟ้าและความสว่างตามจุดต่าง ๆ ฯลฯ

ขอบเขต และอำนาจหน้าที่ของนิติบุคคลมีแค่ไหน
เพื่อให้เห็นถึงความสำคัญของนิติบุคคล ซึ่งในที่นี่หมายถึงตำแหน่งผู้จัดการนิติบุคคล เราจึงควรเข้าใจอำนาจหน้าที่ว่ามีอะไรบ้าง ซึ่งสิ่งเหล่านี้อาจจะส่งผลกระทบต่อความเป็นอยู่ของลูกบ้าน หากเกิดการทำงานที่บกพร่องหรือมีการทุจริตก็ตาม โดยมีตัวอย่างหน้าที่ดังต่อไปนี้
1. ดูแลรักษาทรัพย์สินส่วนกลางของโครงการให้พร้อมใช้งาน เช่น เครื่องออกกำลังกายในฟิตเนส ความสะอาดของสระว่ายน้ำ หรือ ความเรียบร้อยของ Co-working Space เป็นต้น พร้อมควบคุมการใช้งานให้เป็นไปตามกฎที่ตั้งไว้
2. อำนวยความสะดวกให้ลูกบ้านมีความสะดวกสบาย เช่น จัดซื้อเครื่องซักผ้าแบบหยอดเหรียญ หรือจัดซื้ออุปกรณ์เพิ่มเติมในฟิตเนส เป็นต้น
3. จัดประชุมเจ้าของร่วมทั้งเล็ก และใหญ่ตามวาระต่าง ๆ ดำเนินงานตามวาระของที่ประชุม รวมถึงติดตามงานต่าง ๆ ตามข้อบังคับในทางกฎหมาย
4. กำหนดกฎระเบียบต่าง ๆ เพื่อเป็นการรักษาความสุขความสงบที่ส่วนรวมพึงจะได้รับ โดยต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการนิติบุคคล เช่น กำหนดเวลาการใช้บริการสระว่ายน้ำ เวลาสำหรับการให้บริการจากช่างส่วนกลางเป็นต้น
5. เป็นตัวแทนของผู้อาศัยในการยื่นคำร้องทุกข์หรือเป็นโจทก์ฟ้องแทนลูกบ้านเกี่ยวกับกรณีที่กระทบสิทธิหรือผลประโยชน์ของสมาชิกจำนวนมาก เช่น มีความเดือดร้อนจากสภาพแวดล้อมโดยรอบ จนเกิดความไม่สบายใจในการอยู่อาศัย
6. จัดเก็บและบริหารค่าส่วนกลาง เพื่อนำมาบำรุงรักษาพื้นที่ส่วนกลางและสิ่งอำนวยความสะดวกภายในโครงการ รวมถึงดำเนินการกับผู้ที่ค้างชำระค่าส่วนกลาง

บทบาทหน้าที่การทำงานของ นิติบุคคล
หากตัวแทนนิติบุคคลมีพฤติกรรมน่าสงสัย ไม่มีประสิทธิภาพ หรือ เกิดการทุจริตในหน้าที่ ทำให้เกิดปัญหาภายใน ถือเป็นปัญหาใหญ่ทีเดียว เพราะนอกจากนิติบุคคลจะเป็นผู้ดูแลความปลอดภัย ความสงบเรียบร้อย แล้ว ยังต้องมีการจัดทำบัญชีรายรับรายจ่าย และ อื่น ๆ ด้วย ซึ่งนิติบุคคลที่แต่งตั้งขึ้นมาโดยลูกบ้านก็จะเป็นคนกุมเงินก้อนนี้ไว้ และเป็นเงินจำนวนมาก การทุจริต และบริหารงานอย่างไม่มีประสิทธิภาพจึงเกิดขึ้นได้ง่าย
นิติบุคคล บ้านจัดสรร
1. สามารถถูกเรียกเก็บค่าปรับค่าส่วนกลาง 10-15% ของยอดที่ต้องชำระพร้อมดอกเบี้ย
2. ถูกระงับการให้บริการพื้นที่ส่วนกลาง และสิ่งอำนวยความสะดวก
3. ถูกอายัดไม่ให้จดทะเบียนสิทธิหรือทำนิติกรรมใด ๆ เกี่ยวกับโครงการ รวมถึงการขายด้วย
4. ถูกฟ้องร้องเพื่อบังคับให้ชำระหนี้
นิติบุคคล คอนโดอาคารชุด
1. สามารถถูกเรียกเก็บค่าปรับค่าส่วนกลาง 12-20% ของยอดที่ต้องชำระพร้อมดอกเบี้ย
2. ไม่มีสิทธิ์ออกเสียงในที่ประชุม
3. ไม่สามารถโอนกรรมสิทธิ์ได้
4. ถูกฟ้องร้องเพื่อบังคับให้ชำระหนี้
เพราะฉะนั้น การทำงานของนิติบุคคลจะต้องตรงไปตรงมา มีความโปร่งใส และอยู่ภายใต้ความควบคุมของเจ้าของเงิน ซึ่งก็คือลูกบ้านทุก ๆ คน จากการเข้าร่วมประชุมปีละ 1 ครั้ง ถ้าการบริหารเป็นไปด้วยความราบรื่น ลูกบ้านมีความพึงพอใจ ก็สามารถบริหารงานต่อไปได้ แต่หากพบว่าไม่โปร่งใส ลูกบ้านก็สามารถรวมตัวกัน เพื่อตรวจสอบงาน และสามารถยกเลิกนิติบุคคลได้ แต่ต้องรอให้สัญญาว่าจ้างนิติบุคคลครบเทอมเสียก่อน ซึ่งส่วนใหญ่จะตั้งสัญญาไว้ที่ปีต่อปี

ถ้าปัญหาเกิดจากนิติบุคคลเอง ควรทำอย่างไร
เมื่อมีปัญหาที่กวนใจลูกบ้าน ก่อให้เกิดความรำคาญใจหรือไม่สะดวกใจในการอยู่อาศัย โดยปกติลูกบ้านจะต้องแจ้งเรื่องไปยังนิติบุคคล เพื่อให้เข้าแก้ไขปัญหานั้น ๆ แต่หากปัญหานั้น เกิดจากตัวนิติบุคคลเอง ลูกบ้านก็สามารถจัดการปัญหานั้นได้
1. นอกจากองค์กรหรือบริษัทที่ทำหน้าที่เป็นผู้จัดการนิติบุคคลแล้ว ยังมีคณะกรรมการนิติบุคคลที่จะทำหน้าที่เหมือนกระบอกเสียง และเป็นตัวแทนให้กับผู้อยู่อาศัยทุกคนในการตัดสินใจและจัดการปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น รวมทั้งปัญหาที่เกิดจากการทำงานบกพร่องหรือทุจริตของผู้จัดการนิติบุคคลก็เช่นกัน
2. ในกรณีที่นิติบุคคลมีการทำงานที่ไม่โปร่งใส และไปถึงขั้นกระทำการทุจริต เช่น มีการบริหารจัดการและใช้จ่ายเงินส่วนกลางอย่างไม่โปร่งใส ไม่สามารถหาที่มาที่ไปของการใช้จ่ายที่เกิดขึ้นได้ รวมทั้งการเรียกเก็บค่าส่วนกลางที่มากผิดปกติ เกินกว่าที่ข้อตกลงระหว่างลูกบ้านและนิติบุคคลเห็นชอบร่วมกันไว้
ลูกบ้านสามารถนำเรื่องราวไปร้องเรียนกับสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค ซึ่งเป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบเกี่ยวกับเรื่องนี้โดยตรง เมื่อมีการร้องเรียนปัญหา จะทำให้เกิดการตรวจสอบจากภายนอกที่มีความเชี่ยวชาญและอาจจะช่วยแก้ปัญหานี้ได้
3. กรณีนิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรร เมื่อพบเหตุการณ์หรือปัญหาจากเจ้าหน้าที่ทำงานไม่โปร่งใส สามารถร้องเรียนนิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรรผ่านไปยังสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคได้เช่นเดียวกัน
สำหรับท่านใดที่ประสบปัญหานิติบุคคลอาคารชุดหรือหมู่บ้านจัดสรรทำงานบกพร่องหรือทุจริต สามารถทำตามขั้นตอนดังกล่าวเพื่อถอดถอน และเปลี่ยนบริษัทนิติบุคคลได้ และในฐานะลูกบ้าน ก็ควรที่จะสอดส่องการทำงานและตรวจสอบความโปร่งใสของนิติบุคคลอยู่เสมอ เพื่อรักษาผลประโยชน์ของตนเองในหลาย ๆ ด้าน และเพื่อคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีของเรา
แท็กที่เกี่ยวข้อง
นิติบุคคลปัญหานิติบุคคลนิติบุคคลคือใครนิติบุคคลอาคารชุดหมู่บ้านจัดสรรความโปร่งใสรักษาผลประโยชน์บริหารจัดการดูแลทรัพย์สินส่วนกลาง