
ผักถือว่าเป็นเมนูที่อยู่คู่กับคนไทยมาช้านานในทุกๆเมนูในอาหารไทยจะมีผักต่างๆเป็นส่วนประกอบเพราะ ผักมีสารอาหารมากมายที่ให้ประโยชน์แก่ร่างกาย ขึ้นชื่อว่าเป็น “ผัก” แล้ว หลายคนอาจคิดว่า กินผักเยอะๆ ยิ่งดีและมีประโยชน์ต่อร่างกาย การกินผักเยอะๆ ไม่น่าเป็นอันตรายอะไร แต่อันที่จริง ยังมีผักบางกลุ่มที่เป็นที่นิยมในไทย พบได้ในอาหารไทยบ่อยๆ ที่เราอาจจะกินบ่อยๆ ไม่ดี หรือไม่เหมาะกับสุขภาพของทุกคนอย่างที่เราคิดกัน ลองมาทำความรู้จัก 8 อันดับผักที่คนนิยมทานมากที่สุด มีอะไรกันบ้างไปดูกัน



ผักยอดนิยมของคนไทย 8 ชนิด กับข้อควรระวังในการกิน 


1 ผักคะะน้า

คะน้ามีโพแทสเซียมที่อาจช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรคความดันโลหิตสูง และโรคหลอดเลือดหัวใจ มีวิตามิน แร่ธาตุ ไฟเบอร์ และสารต้านอนุมูลอิสระ อาจช่วยลดความเสี่ยงเกิดโรคเบาหวานชนิดที่ 2 ช่วยลดความเสี่ยงมะเร็ง และส่งเสริมการทำงานของระบบย่อยอาหาร สุขภาพตา กระดูก ผม และผิว
แต่หากรับประทานผักคะน้ามากเกินไปอาจส่งผลต่อการทำงานของต่อมไทรอยด์ได้ โดยเฉพาะในผู้ที่มีภาวะต่อมไทรอยด์ทำงานน้อย และผู้ที่เป็นโรคไต อาจต้องจำกัดการรับประทานคะน้า เนื่องจากคะน้ามีโพแทสเซียมสูง และหากรับประทานโพแทสเซียมมากเกินไปอาจส่งผลให้ไตทำงานหนัก และอาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้ รวมถึงผู้ที่รับประทานยาต้านการแข็งตัวของเลือด เช่น คูมาดิน (Coumadin) วาร์ฟาริน (Warfarin) อาจต้องจำกัดการรับประทานผักคะน้า เนื่องจากคะน้ามีวิตามินเคที่ช่วยให้เลือดแข็งตัว ซึ่งอาจส่งผลต่อการทำงานของยาได้
2 กะหล่ำปลี

กะหล่ำปลีมีวิตามินซีสูง ป้องกันโรคหัวใจและหลอดเลือด ช่วยปรับปรุงการทำงานของลำไส้ และลดความเสี่ยงการเกิดโรคมะเร็ง แต่สำหรับผู้ที่มีอาการแพ้ต่อผักในวงศ์ผักกาดและกะหล่ำ ควรหลีกเลี่ยงการรับประทานกะหล่ำปลีเนื่องจากอาจเกิดอาการแพ้ อาเจียน ผื่นขึ้น ใบหน้าและลิ้นบวมได้ ผู้ที่เป็นโรคเบาหวานและผู้ที่มีการทำงานของต่อมไทรอยด์ผิดปกติก็ควรหลีกเลี่ยงการรับประทานกะหล่ำปลีด้วยเช่นกัน เพราะกะหล่ำปลีอาจส่งผลให้ต่อมไทรอยด์ทำงานน้อยลง เนื่องจากกะหล่ำปลี โดยเฉพาะกะหล่ำปลีดิบ อาจมีสารยับยั้งที่ไปขัดขวางการสร้างฮอร์โมนในต่อมไทรอยด์
นอกจากนี้ เนื่องจากกะหล่ำปลีมีส่วนช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือด หากรับประทานในปริมาณมาก โดยเฉพาะผู้ที่จำเป็นต้องเข้ารับการผ่าตัด อาจส่งผลให้ระดับน้ำตาลในเลือดลดลงมากเกินไประหว่างผ่าตัด ที่อาจนำไปสู่อาการชักหมดสติ ดังนั้นจึงควรหยุดรับประทานกะหล่ำปลีอย่างน้อย 2 สัปดาห์ ก่อนการผ่าตัด
3 แตงกวา

แตงกวาช่วยลดความเสี่ยงโรคหัวใจและหลอดเลือด บำรุงผิว และยังเป็นผักที่ดีต่อสุขภาพของคนที่กำลังลดน้ำหนัก แต่แตงกวาอาจเป็นผักที่พบสารปนเปื้อนยาฆ่าแมลง การรับประทานแตงกวาทั้งเปลือกโดยไม่ล้างให้สะอาด จึงอาจทำให้ร่างกายได้รับสารพิษจากยาฆ่าแมลง และเป็นอันตรายต่อร่างกายได้
ดังนั้นก่อนรับประทานแตงกวาจึงควรปอกเปลือก และล้างให้สะอาด โดยการแช่ในน้ำผสมเกลือ 1 ช้อนโต๊ะ ประมาณ 10 นาที แล้วจึงล้างออกด้วยการเปิดน้ำไหลผ่าน เพื่อช่วยลดสารเคมีที่อาจตกค้างอยู่ให้ออกไป
4 ผักกาด

ผักกาด อุดมไปด้วยสารต้านอนุมูลอิสระ ที่ส่งผลดีต่อสุขภาพ ส่งเสริมระบบภูมิคุ้มกัน ป้องกันการอักเสบ และอาจช่วยป้องกันโรคเรื้อรัง เช่น โรคมะเร็ง โรคเบาหวาน โรคหัวใจและหลอดเลือด ส่งเสริมการทำงานของระบบย่อยอาหาร เสริมสร้างระบบภูมิคุ้มกัน ช่วยให้กระดูกแข็งแรง และยังดีต่อหญิงตั้งครรภ์และทารกในครรภ์ เพราะอุดมไปด้วยโฟเลต ซึ่งเป็นวิตามินที่สำคัญต่อหญิงตั้งครรภ์และทารกในครรภ์ ที่ช่วยเสริมสร้างกล้ามเนื้อและพัฒนาการของทารกในครรภ์ และอาจช่วยป้องกันโรคทางระบบประสาทในทารกแรกเกิดได้
แต่เวลารับประทานผักกาดก็ต้องระวังสารปนเปื้อนหรือสารพิษที่อาจตกค้างอยู่ในผักกาด เช่น ยาฆ่าแมลง ด้วย เพราะหากรับประทานผักที่มีสารปนเปื้อนเป็นเวลานาน อาจทำให้สารปนเปื้อนหรือสารพิษเหล่านั้นสะสมในร่างกายจนส่งผลเสียต่อสุขภาพ เช่น ทำให้มีอาการมึนงง ปวดศีรษะ อ่อนเพลีย หายใจไม่สะดวก ชัก หรืออาจร้ายแรงถึงขั้นเสียชีวิต ดังนั้นก่อนรับประทานผักกาดจึงควรล้างผักกาดให้สะอาด โดยการแยกใบผักกาดออกเป็นใบๆ แล้วล้างให้สะอาดด้วยการให้น้ำไหลผ่าน เพื่อชำระคราบดิน สิ่งสกปรก แบคทีเรีย เชื้อก่อโรค เป็นต้น
5 ผักบุ้ง

ผักบุ้งที่นิยมนำมาใช้รับประทานนั้นมีสายพันธุ์อะไรบ้าง ซึ่งในประเทศไทยจะแบ่งออกเป็น 2 สายพันธุ์หลัก ๆ คือ ผักบุ้งไทยและผักบุ้งจีน สำหรับผักบุ้งไทยเป็นผักบุ้งสายพันธุ์ธรรมชาติที่ขึ้นเองตามแม่น้ำลำคลอง โดยส่วนมากที่นิยมปลูกขายก็คือผักบุ้งจีน เพราะลำต้นค่อนข้างขาว ใบเขียวอ่อน ดอกขาว มียางน้อยกว่าผักบุ้งไทย จึงได้รับความนิยมในการรับประทานมากกว่าผักบุ้งไทยนั่นเอง ผักบุ้งไทยนั้นจะมีวิตามินซีสูงและสรรพคุณทางยามากกว่าผักบุ้งจีน แต่จะมีแคลเซียมและเบตาแคโรทีน (วิตามินเอที่ช่วยบำรุงสายตา) น้อยกว่าผักบุ้งจีน หากรับประทานสด ๆ ได้ จะทำให้คุณค่าของวิตามินและแร่ธาตุเหล่านี้ไม่เสียไปกับความร้อนอีกด้วย
แต่ทั้งนี้ก็ควรระมัดระวังในเรื่องการรับประทานหน่อยนะคะ เพราะเจ้าผักบุ้งนี้มีฤทธิ์เป็นยาระบายอ่อน ๆ กินเยอะเกินไปอาจจะทำให้ถ่ายท้องได้ นอกจากนั้นผู้ที่เป็นโรคความดันโลหิตต่ำ ควรหลีกเลี่ยงการรับประทานผักบุ้งด้วยเช่นกัน เนื่องจากผักบุ้งจะมีคุณสมบัติลดความดันโลหิต จนทำให้ความดันยิ่งต่ำลงไปอีก ซึ่งอาจจะก่อให้เกิดการเป็นตะคริวได้ง่ายขึ้น บ่อยขึ้น และทำให้ร่างกายอ่อนแอลงอีกด้วย
6 ผักขึ้นฉ่าย

ขึ้นฉ่าย อุดมไปด้วยสารต้านอนุมูลอิสระหลายชนิด ที่อาจช่วยป้องกันการเกิดมะเร็ง มีสารอะพิจีนีน (Apigenin) ซึ่งเป็นสารฟลาโวนอยด์ชนิดหนึ่งที่ช่วยต้านอนุมูลอิสระ ต้านการอักเสบ อาจช่วยลดไขมันในเลือด และยังอาจช่วยส่งเสริมการสร้างเซลล์ประสาทจากสารประกอบน้ำมันอย่าง 3 เอ็น-บิวทิลฟทาไลด์
แต่ในบางคน การรับประทานขึ้นฉ่ายมากเกินไปอาจทำให้มีอาการท้องอืดหรือแก๊สในกระเพาะอาหารได้ เนื่องจากในขึ้นฉ่ายมีสารแมนนิทอล (Mannitol) ในปริมาณมาก ซึ่งอาจขัดขวางการดูดซึมสารอาหารของลำไส้และทำให้เกิดความผิดปกติในทางเดินอาหาร นอกจากนี้ขึ้นฉ่ายอาจทำให้เกิดอาการแพ้ในบางคน ซึ่งทำให้เกิดอาการลมพิษ บวม หายใจลำบาก เนื่องจากขึ้นฉ่ายมีสารก่อภูมิแพ้ เช่น โพรฟิลิน (Profilin) ฟลาโปรตีน (Flavoprotein) รวมถึงขึ้นฉ่ายยังอาจมีเชื้อราสเคอโรติเนีย สเคอทิออรัม (Sclerotinia Sclerotiorum) ที่อาจก่อให้เกิดโรคผิวหนังในผู้ที่มีผิวบอบบางได้อีกด้วย
7 ใบกระเพรา

กะเพราเป็นไม้ล้มลุกที่มีความสูงของต้นประมาณ 30-60 เซนติเมตร โคนต้นออกแข็ง กะเพราแดงจะมีลำต้นสีแดงอมเขียว กะเพราขาวมีลำต้นสีเขียวอมขาว และยอดอ่อนมีขนสีขาว มีใบเป็นใบเดี่ยวสีเขียวรูปรีออกตรงข้ามกัน ปลายใบมนหรือแหลม โคนใบแหลม ขอบใบเป็นจักฟันเลื่อยและเป็นคลื่น แผ่นใบมีขนสีขาว ส่วนดอกกะเพราจะออกเป็นช่อที่ปลายยอด ดอกสีขาวแกมม่วงแดงมีจำนวนมาก กลีบเลี้ยงโคนจะเชื่อมติดกัน ปลายเรียวแหลม ด้านนอกมีขน
น้ำยางกะเพราที่ใช้สำหรับกัดหูดนี้เป็นพิษมาก ดังนั้นควรใช้ด้วยความระวัง อย่าให้เข้าตารวมถึงให้กัดเฉพาะตรงที่เป็นหูด อย่าให้ยางถูกเนื้อดี ถ้าถูกเนื้อดี เนื้อดีจะเน่าเปื่อย ซึ่งรักษาให้หายได้ยาก กะเพรามีอยู่ 2 ชนิด หากนำไปประกอบอาหาร ควรใช้กะเพราะขาว แต่หากต้องการนำไปใช้เป็นสมุนไพรการเลือกกะเพราแดง เพราะมีฤทธิ์ทางยาแรงกว่ากะเพราขาว ในการเลือกใช้กะเพรามาใช้ประโยชน์ควรเลือกกะเพราที่ปลอดสารพิษ หากเป็นไปได้ควรปลูกเพื่อนำไปใช้เองจะดีที่สุด การใช้กะเพราเป็นยาสมุนไพรควรใช้ในปริมาณที่พอเหมาะและไม่ควรใช้ติดต่อกันเป็นเวลานานเกินไปเพราะอาจเป็นอันตรายได้
8 ใบโหระพา

สรรพคุณนั้นมีมากมายแต่น้อยคนนักที่จะรู้ว่ามันมีประโยชน์อย่างไร โดยโหระพา 1 ขีด มีเบต้าแคโรทีนสูงถึง 452.16 ไมโครกรัม ซึ่งสามารถช่วยป้องกันโรคหัวใจ และยังมีวิตามินและแร่ธาตุอื่น ๆ ด้วย เช่น วิตามินเอ วิตามินบี 1 วิตามินบี 2 วิตามินซี ธาตุแคลเซียม ธาตุฟอสฟอรัส ธาตุเหล็ก รวมไปถึงคาร์โบไฮเดรต โปรตีน และไขมัน เป็นต้น โดยสรรพคุณของโหระพาที่เรานำมาใช้ในการรักษาโรคหลัก ๆ แล้วจะใช้แค่ใบและน้ำมันสกัดจากใบโหระพาเป็นหลัก แต่ส่วนอื่น ๆ ก็ใช้ได้เหมือนกันไม่ว่าจะเป็น ราก ลำต้น ก็ถือว่ามีประโยชน์แทบทั้งสิ้น
การนำโหระพามาปรุงอาหารหรือรับประทานสดนั้นค่อนข้างปลอดภัย ส่วนการรับประทานเพื่อสรรพคุณทางยาหรือในรูปแบบอาหารเสริมเป็นระยะเวลาสั้น ๆ ก็ปลอดภัยเช่นกัน แต่ควรระมัดระวังในด้านขนาดการใช้ เพราะบางรายอาจมีระดับน้ำตาลลดต่ำลงหลังจากการรับประทานโหระพามากเกินไป อีกทั้งไม่ควรรับประทานน้ำมันสกัดจากโหระพาหรือส่วนลำต้นของโหระพาเป็นระยะเวลานาน เนื่องจากประกอบด้วยสารเอสตราโกล (Estragole) ซึ่งอาจเพิ่มความเสี่ยงให้เกิดโรคมะเร็งตับได้
“ นอกจากนี้ ยังมีพืชผักที่น่าสนใจที่เหมาะจะปลูกไว้เพื่อเป็นพืชผักสวนครัว ประจำบ้านของคนไทยแล้ว ยังมีไว้เพื่อลดค่าใช้จ่ายในครอบครัว ไม่ว่าจะเป็น พริก โหระพา ตะไคร้ มะนาว เป็นต้น แม้พืชผักบางชนิดจะใช้เวลาในการเพาะปลูกนาน แต่เมื่อผลผลิตออกมาแล้วนับว่าคุ้มค่ากับการรอคอย อย่างเช่น มะนาว กับ พริก นั้น ใน 1 ต้นสามารถให้ผลผลิตเป็นจำนวนมาก หากเหลือกินเหลือเก็บก็สามารถนำมาวางขายตามตลาดนัด หรือวางขายในที่ชุมชนที่มีผู้คนพลุกพล่าน สร้างรายได้ให้กับเราได้อย่างต่อเนื่องด้วย เพียงแค่ดูแลให้ดี ยิ่งถ้าเป็นผลผลิตที่ปลอดสารพิษด้วยแล้ว มูลค่าราคาขายเรายังสามารถตั้งราคาได้เองอีกด้วย ”