
เมื่อเข้าสู่ช่วงสิ้นปี หน้าที่ของคนไทยที่มีรายได้อย่างหนึ่ง ก็คือ จะต้องเตรียมตัวเรื่อง “ภาษี” กันให้พร้อมแต่เนิ่นๆ เพื่อเตรียมยื่น “ภาษีปี 2567” ที่จะเริ่มยื่นช่วง ต้นปี ไม่ว่าจะเป็น เรื่องการคำนวณรายได้, หาตัวช่วย ผ่านสิทธิลดหย่อนทางภาษี เพื่อทำเรื่องขอคืนภาษี
โดยการยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในปี 2567 นั้น สามารถยื่นภาษีแบบเอกสารหรือกระดาษ ณ สำนักงานสรรพากรพื้นที่สาขาทุกแห่ง ภายในวันที่ 31 มี.ค. 2567 หรือจะยื่นภาษีแบบออนไลน์ผ่านเว็บไซต์ของกรมสรรพากร www.rd.go.th ก็ได้เช่นกัน ซึ่งจะขยายเวลาไปจนถึงวันที่ 8 เม.ย. 2567

วิธีคำนวณภาษีง่ายๆ
จากข้อมูลของธนาคารกรุงศรีอยุธยา ระบุ สำหรับคนไทยที่มีรายได้เกิน 120,000 บาทต่อปี (กรณีโสด) และมากกว่า 220,000 บาทต่อปี (กรณีสมรส) มีหน้าที่ต้องยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาตามกฎหมายทุกปี
ทั้งนี้ เงินที่จะนำมาใช้ในการคำนวณภาษี จะเป็นเงินได้สุทธิหลังจากหักค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อนต่างๆ แล้วนำไปคำนวณภาษีแบบขั้นบันได โดยมีวิธีคำนวณภาษีขั้นพื้นฐานแบบง่ายๆ ดังนี้

คำนวณ เงินเดือน (รายได้) กับ ภาษีที่ต้องเสีย
ล่าสุด บมจ.ธรรมนิติ องค์กรด้านกฎหมาย และ ตรวจสอบบัญชี ได้สรุป ตัวอย่าง ตารางฐานเงินเดือน กับ ภาษีที่ต้องเสีย มาให้เราได้ลองเปรียบเทียบ คำนวณกัน โดยได้หักค่าใช้จ่าย 50% แต่ไม่เกิน 100,000 บาท, หักลดหย่อนส่วนตัว 60,000 บาท และ ประกันสังคม 9,000 บาท ในช่องรายได้สุทธิแล้ว ดังต่อไปนี้
- เงินเดือน : 15,000 บาท
- รายได้ต่อปี : 180,000 บาท
- รายได้สุทธิ : 21,000 บาท
- ภาษีที่ต้องเสีย (ไม่เกิน) : ไม่ต้องเสียภาษี
- เงินเดือน : 20,000 บาท
- รายได้ต่อปี : 240,000 บาท
- รายได้สุทธิ : 71,000 บาท
- ภาษีที่ต้องเสีย (ไม่เกิน) : ไม่ต้องเสียภาษี
- เงินเดือน : 30,000 บาท
- รายได้ต่อปี : 360,000 บาท
- รายได้สุทธิ : 191,000 บาท
- ภาษีที่ต้องเสีย (ไม่เกิน) : 2,050 บาท
- เงินเดือน : 40,000 บาท
- รายได้ต่อปี : 480,000 บาท
- รายได้สุทธิ : 311,00 บาท
- ภาษีที่ต้องเสีย (ไม่เกิน) : 8,500 บาท
- เงินเดือน : 50,000 บาท
- รายได้ต่อปี : 600,000 บาท
- รายได้สุทธิ : 431,000 บาท
- ภาษีที่ต้องเสีย (ไม่เกิน) : 20,600
- เงินเดือน : 60,000 บาท
- รายได้ต่อปี : 720,000 บาท
- รายได้สุทธิ : 551,000 บาท
- ภาษีที่ต้องเสีย (ไม่เกิน) : 35,150 บาท
- เงินเดือน : 80,000 บาท
- รายได้ต่อปี : 960,000 บาท
- รายได้สุทธิ : 791,000 บาท
- ภาษีที่ต้องเสีย (ไม่เกิน) : 73,200 บาท
- เงินเดือน : 90,000 บาท
- รายได้ต่อปี : 1,080,000 บาท
- รายได้สุทธิ : 911,000 บาท
- ภาษีที่ต้องเสีย (ไม่เกิน) : 97,200 บาท
- เงินเดือน : 100,000 บาท
- รายได้ต่อปี : 1,200,000 บาท
- รายได้สุทธิ : 1,031,000 บาท
- ภาษีที่ต้องเสีย (ไม่เกิน) : 122,750 บาท

แต่อย่างไรก็ตาม สำหรับใครที่เป็นมือใหม่ ยังไม่มีความเข้าใจการเสียภาษีมากนัก การคำนวณตัวเลขดังกล่าว คงเป็นเรื่องยากไม่น้อย โดยเฉพาะ เหล่าพนักงาน ที่แม้นายจ้างหรือบริษัท หักภาษีไว้อยู่แล้ว แต่หากมีรายได้เสริมอื่นๆ เข้ามา เช่น รับจ้างเป็นฟรีแลนซ์ ขายของออนไลน์ ก็จำเป็นต้องนำมาคำนวณภาษีด้วยเช่นกัน ไม่งั้น หากเราไม่ยื่นภาษี และมีรายได้เกินกว่าที่กำหนด อาจถูกเรียกตรวจสอบย้อนหลังได้
ที่มา : ธนาคารกรุงศรีอยุธยา, ธรรมนิติ