
ที่ดินเปล่า กรุงเทพปริมณฑล นครปฐม รถไฟฟ้าสายสีเขียว เพิ่มขึ้น 3%
เมื่อวันที่ 31 ตุลาคม นายวิชัย วิรัตกพันธ์ รักษาการผู้อำนวยการศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (REIC) เปิดเผยว่า ดัชนีราคาที่ดินเปล่าก่อนการพัฒนาในกรุงเทพและปริมณฑล ไตรมาส 3 ปี 2566 มีค่าดัชนีเท่ากับ 379.9 จุด เพิ่มขึ้น 3% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนและเทียบกับไตรมาสก่อนหน้าเพิ่มขึ้น 0.9%
โดยภาพรวมปรับตัวเพิ่มขึ้นแต่เป็นแบบชะลอตัว เมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ย 5 ปี ในช่วงก่อนเกิดวิกฤตโควิด ที่มีอัตราเฉลี่ยเพิ่มขึ้น 14.8% ต่อไตรมาส เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน และเพิ่มขึ้น 4.1 % จากไตรมาสก่อนหน้า แสดงให้เห็นว่าอัตราเร่งของดัชนีราคาที่ดินในช่วงเวลาก่อนเกิดวิกฤต สูงกว่าปัจจุบันประมาณ 5 เท่า

นายวิชัยกล่าวว่า ปัจจัยทำให้ราคาที่ดินเปล่าเพิ่มขึ้นในอัตราที่ชะลอตัวลง เป็นผลจากปัจจัยลบ การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 5 ครั้งตั้งแต่ต้นปี 2566 การยกเลิกการผ่อนคลายมาตรการ LTV และภาวะหนี้สินครัวเรือนยังอยู่ในระดับสูงเกินกว่าร้อยละ 90 ของจีดีพี เป็นปัจจัยลบที่ส่งผลต่อกำลังซื้อทั้งสิ้น ทำให้กำลังซื้อที่อยู่อาศัยชะลอตัว ผู้ประกอบการส่วนหนึ่งชะลอแผนเปิดขายโครงการใหม่ จึงชะลอซื้อที่ดินเปล่า ประกอบกับรัฐบาลได้ประกาศจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างเต็มอัตราในปี 2566 ทำให้ความต้องการในการซื้อที่ดินสะสมในแลนด์แบงก์ของผู้ประกอบการลดลง เพราะมีภาระที่ต้องจ่ายภาษีที่ดิน ทำให้เกิดต้นทุนจากการถือครองที่ดิน จะกลายเป็นต้นทุนในการพัฒนาโครงการในระยะต่อไป
นายวิชัยกล่าวว่า ในไตรมาส 3 นี้ พบโซนที่มีอัตราการขยายตัวของราคาที่ดินเพิ่มขึ้นสูงสุด 5 อันดับแรกได้แก่
1.โซนนครปฐมมีเปลี่ยนแปลงราคา 62.5%
2.โซนบางพลี-บางบ่อ-บางเสาธง เปลี่ยนแปลงราคา 22.3%
3.โซนเมืองสมุทรปราการ-พระประแดง-พระสมุทรเจดีย์ มีเปลี่ยนราคา 17.9%
4.โซนตลิ่งชัน-บางแค-ภาษีเจริญ-หนองแขม-ทวีวัฒนา-ธนบุรี-คลองสาน-บางพลัด-บางกอกน้อย-บางกอกใหญ่ มีเปลี่ยนราคา 14.9%
5.โซนกรุงเทพชั้นใน เปลี่ยนแปลงราคา 6.8%

“สะท้อนให้เห็นว่า ที่ดินพื้นที่ชานเมืองของกรุงเทพฯและปริมณฑล มีการเปลี่ยนแปลงของราคาที่สูงกว่าในเขตชั้นใน เพราะมีแผนงานที่จะมีการพัฒนาโครงการสำคัญในพื้นที่จังหวัดในปริมณฑลมากขึ้น โดยเฉพาะจังหวัดนครปฐม ประกอบกับราคาที่ดินที่อยู่บริเวณพื้นที่ชานเมืองยังราคาไม่สูงนัก และนำไปใช้พัฒนาเป็นที่อยู่อาศัยแนวราบให้สอดคล้องกับความสามารถของผู้ซื้อที่ต้องการที่อยู่อาศัยแนวราบได้ และในช่วงครึ่งแรกของ ปี 2566 พบโซนเหล่านี้มีพัฒนาโครงการที่อยู่อาศัยใหม่เป็นจำนวนมาก และมียอดขายใหม่สูงเป็นระดับต้นๆ อีกด้วย” นายวิชัยกล่าว
นายวิชัยกล่าวว่า สำหรับราคาที่ดินเปล่าในแนวรถไฟฟ้าในไตรมาสที่ 3 นี้
แนวรถไฟฟ้า 5 อันดับแรกที่เพิ่มขึ้นสูงสุด ได้แก่

1.สายสีเขียวช่วงสมุทรปราการ-บางปูและ สายสีเขียว ช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ ราคาที่ดินเพิ่มขึ้น 17.9% โดยปรับขึ้นมากในเขตเมืองสมุทรปราการและพระสมุทรเจดีย์
2.สายสีแดงอ่อน ช่วงตลิ่งชัน-ศาลายาเพิ่มขึ้น 15.5 % เพิ่มขึ้นมากในเขตทวีวัฒนา บางกรวย และพุทธมณฑล 3.สายสีน้ำเงิน ช่วงบางแค-สาย 4 เพิ่มขึ้น 14.9% โดยเพิ่มมากสุดในเขตหนองแขมและบางแค 2.สายสีน้ำเงิน ช่วงหัวลำโพง-บางแค สายสีทอง ช่วงธนบุรี-ประชาธิปก และสายสีส้ม ช่วงตลิ่งชัน-ศูนย์วัฒนธรรม เพิ่มขึ้น 8.6% เพิ่มมากสุดในเขตบางกอกน้อย ธนบุรี คลองสาน และห้วยขวาง และ5.สายสีแดงอ่อน ช่วงบางซื่อ-ตลิ่งชัน เพิ่มขึ้น 8.3% โดยเพิ่มมากสุดในเขตบางซื่อ และบางกรวย
